เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2014 ทางรัฐบาลของประเทศไทย ได้มีการสั่งห้ามการอุ้มบุญ เนื่องจากมีข่าวที่ไม่ดีในช่วงที่ผ่านๆมา เช่น ในกรณีน้องแกมมี่ เป็นต้น โดยทางรัฐบาลเกรงว่าภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะเสื่อมเสียไปด้วย สำหรับชาวต่างชาติแล้วนั้นประเทศไทยไม่ควรจะเป็นประเทศที่ถือว่าเป็น “โรงงานผลิตเด็ก” อย่างไรก็ตามการอุ้มบุญในประเทศไทยนั้นควรจะสามารถดำเนินได้เฉพาะในเครือญาติสนิทคนไทยด้วยกัน สำหรับตอนนี้นั้นยังไม่มีกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้ออกมา หากแต่เป็นเพียงการร่างกฎหมายที่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเท่านั้น

สำหรับในประเทศเยอรมนีแล้วนั้นถือว่าการอุ้มบุญเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากแต่ในหลายๆประเทศนั้นมีการอนุญาตเรื่องดังกล่าว กฎหมายของประเทศเยอรมนีนั้นมีมาตรการป้องกันคุ้มครองเด็กและแม่ผู้อุ้มบุญหรือหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรวจสอบว่าตอนไหนที่ฝั่งคู่สามีภรรยาชาวเยอรมันจะสามารถนำเด็กที่ถูกอุ้มบุญนั้นเดินทางเข้ามาในประเทศเยอรมนีได้   กฎหมายประเทศเยอรมนีถือว่าฝ่ายหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนนั้นจะเป็นแม่ของเด็กโดยถูกต้องตามกฎหมายโดยอัตโนมัติ ถึงแม้ว่าไข่ที่นำมาปฎิสนธิจะมาจากภรรยาผู้ที่ต้องการมีลูกที่แท้จริงก็ตาม ในกรณีที่ฝ่ายหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนได้แต่งงานแล้ว อาจเป็นได้ที่ฝ่ายสามีภรรยาที่ต้องการมีลูกชาวเยอรมันจะไม่มีสิทธิในตัวเด็กโดยทางนิตินัยเลย นั่นหมายความว่าฝั่งสามีภรรยาที่ต้องการมีลูกนั้นจะต้องทำการเดินเรื่องรับบุตรบุญธรรมตามหลัง ซึ่งนั่นเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการยาวนานมาก นอกเหนือจากนี้เด็กจะสามารถมีสัญชาติเยอรมันได้ก็ต่อเมื่อการดำเนินเรื่องการรับบุตรบุญธรรมได้สิ้นสุดแล้ว กล่าวคือเด็กนั้นไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีได้จนกว่าเรื่องการรับบุตรบุญธรรมจะเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตามทางศาลสูงสุดของประเทศเยอรมนี หรือศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิพากษาในหัวข้อการอุ้มบุญเมื่อไม่นานมานี้ได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ มีผู้ชายสองคนที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสกันจากเบอร์ลิน ได้มีลูกตามที่พวกเขาต้องการ โดยให้หญิงที่รับตั้งครรภ์ในประเทศอเมริกาทำการอุ้มบุญให้ โดยฝ่ายชายคนใดคนหนึ่งเป็นพ่อของเด็กตามพฤตินัย และได้ทำการรับรองบุตรก่อนคลอดเรียบร้อย ในตอนดำเนินเรื่องอุ้มบุญนั้นชายทั้งสองคนได้รับไข่ด้วยการบริจาคมา  หากใช่ไข่จากหญิงที่รับตั้งครรภ์ไม่ ในกรณีนี้กล่าวว่าหญิงที่รับตั้งครรภ์นั้นไม่ใช่แม่ของเด็กโดยทางพฤตินัย และไม่ได้เป็นญาติโดยสายเลือดกับเด็ก หากแต่เป็นผู้ที่รับจ้างอุ้มบุญโดยแท้จริง โดยไข่ที่ได้รับบริจาคมาได้ถูกผสมกับอสุจิ เมื่อปฎิสนธิแล้วจึงนำเข้าไปฝังตัวในหญิงที่รับตั้งครรภ์  โดยหญิงคนนี้นั้นไม่ได้มีสถานะแต่งงานแต่อย่างใด

ในกรณีดังกล่าวทางศาลของเขตแคลิฟอร์เนียได้พิพากษาว่าชายทั้งสองคนที่ “แต่งงาน” กันนั้นถือเป็นพ่อแม่ของเด็กโดยถูกต้องตามกฎหมาย หากใช่ลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์ไม่ โดยชายทั้งสองคนนั้นถูกบันทึกชื่อเข้าไปในสูติบัตรเด็กของประเทศอเมริกาด้วย

แน่นอนว่าชายทั้งสองต้องการให้มีการบันทึกชื่อตนเองในฐานะพ่อแม่ของเด็กในสูติบัตรของเด็กย้อนหลังที่ประเทศเยอรมนีด้วย โดยชื่อของผู้เป็นแม่อย่างเป็นทางการนั้นไม่ควรจะระบุลงไป โดยหลังจากที่ทางอำเภอในเบอร์ลิน ศาลปกครองในเขตเชือนเนอร์แบร์ก (Schöneberg) รวมถึงศาลปกครองสูงสุด ได้ปฎิเสธการแจ้งทะเบียนบันทึกเรื่องดังกล่าว ทางศาลรัฐธรรมก็ได้ตัดสินว่าชายทั้งสองคนนั้นควรต้องถูกระบุลงไปในสูติบัตรว่าเป็นพ่อของเด็ก เนื่องจากว่าหญิงที่รับตั้งครรภ์ตามกฎหมายของประเทศอเมริกานั้นไม่มีความจำเป็นจะต้องเลี้ยงดู เกื้อกูลเด็ก และนอกเหนือจากนั้นยังมีคำตัดสินที่ได้รับการรับรองมาช่วยเกื้อหนุนจากของประเทศอเมริกาด้วย กล่าวคือการบันทึกชื่อของชายทั้งสองคนในฐานะพ่อของเด็กนั้นจะช่วยคุ้มครองเด็กมากขึ้น

ทางศาลเองนั้นได้มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น กล่าวคือในกรณีคู่ครองหรือคู่สามีภรรยาที่มีเพศเดียวกันนั้นควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันเหมือนกับคู่สามีภรรยาทั่วไป เนื่องจากว่าในกรณีคู่สามีภรรยามีมาจากเพศชาย หญิง ตามปกติแล้วนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้เป็นสามีนั้นจะเป็นพ่อที่แท้จริงของเด็ก หรือฝั่งภรรยาฝ่ายหญิงจะได้รับบริจาคไข่เพื่อช่วยในการตั้งครรภ์หรือไม่ เนื่องจากว่าทั้งสองได้แต่งงานกัน ตามกฎหมายจึงถือว่าเขาทั้งสองเป็นพ่อและแม่ของเด็กโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยในกรณีนี้ฝ่ายที่เป็นครอบครัวหรือพ่อแม่เด็กแท้ๆจะไม่มีความสำคัญใดๆเลย

 

นิโคล ไบเยอร์

ทนายความหญิง และทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสังคม