ส่วนที่สองเรื่องสิ่งที่ตามมาทางกฎหมายในการแยกกันอยู่และหย่านั้น จะเกี่ยวเนื่องกับคำถามเรื่องค่าเลี้ยงดูของคู่สมรส และสำหรับบุตร ดังนี้

  1. เรื่องค่าเลี้ยงดูช่วงแยกกันอยู่

ค่าเลี้ยงดูช่วงแยกกันอยู่นั้นจะมีให้สำหรับคู่สมรสฝ่ายที่มีความจำเป็นที่ต้องได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อให้เพียงพอ ในการครองชีพ กล่าวคือฝ่ายที่มีรายรับมากกว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเลี้ยงดูต่ออีกฝ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่ช่วงเวลาที่คู่สมรสทั้งสองคนได้แยกกันอยู่ และไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเยี่ยงสามีภรรยา โดยการแยกกันอยู่นั้นสามารถดำเนินได้ภายในบ้านหลังเดียวกัน หากการแยกกันอยู่นั้นถือเป็นการแยกกันอยู่อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแยกกันอยู่ในเขตห้องรับแขกกับเขตห้องนอน สิทธิในการเรียกร้องค่าเลี้ยงดูนี้นั้นสามารถเรียกร้องได้จนถึงการหย่าถึงขั้นสิ้นสุด ขอบข่ายในการชำระค่าเลี้ยงดูนั้นจะขึ้นอยู่กับความจำเป็นโดยทั่วๆไปของฝ่ายที่มีสิทธิเรียกร้อง รายรับและทรัพย์สินของผู้ที่ควรจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ สำคัญสำหรับเรื่องนึ้คือคุณจะต้องมีการยื่นเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องมีการกำหนดระยะเวลาให้จ่ายเงินด้วย ในกรณีที่คุณไม่ทราบข้อมูลรายรับหรือทรัพย์นสินของอีกฝ่ายจะต้องมีการเรียกร้องให้อีกฝ่ายมีการแจ้งข้อมูลเรื่องรายรับ หากไม่มีการเรียกร้องก็ถือว่าคุณไม่ได้มีสิทธิที่จะได้รับเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงดูช่วงแยกกันอยู่เช่นเดียวกัน

  1. ค่าเลี้ยงดูหลังสิ้นสุดการสมรส

ค่าเลี้ยงดูหลังสิ้นสุดการสมรสถูกเรียกบ่อยครั้งว่าค่าเลี้ยงดูหลังการหย่า สำหรับฝ่ายคู่ครองที่หย่าจากกันไปแล้วนั้น ฝ่ายที่คิดว่าตนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ไม่สามารถแน่นอนใจว่าตนจะสามารถเรียกร้องค่าเลี้ยงดูหลังจากการหย่ากับอีกฝ่ายได้เสมอไป ในการเรียกร้องค่าเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายที่หย่าจากกันนั้นจะต้องดำเนินเรื่องแยกต่างหาก และเรียกร้องต่ออีกฝ่ายให้ทันเวลา เพราะในการเรียกร้องนั้นจะมีขั้นตอนการตรวจสอบต่างออกไป กล่าวคือคุณมีสิทธิจะได้รับก็ต่อเมื่อเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ตรงตามที่ระบุไว้เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นต้องมีการให้เหตุผล และตรวจสอบดูด้วยว่ามีสาเหตุใดที่ทำให้คุณได้รับความเสียเปรียบในช่วงระยะเวลาที่สมรสกันมาได้ เช่น คุณอาจไม่สามารถไปทำงานได้เต็มที่เนื่องจากว่าต้องอยู่บ้านดูแล เลี้ยงลูกที่มีด้วยกัน ในกรณีที่มีการสมรสมานานแล้วนั้น อาจกล่าวเหตุผลได้ เช่น เงื่อนไขทางด้านการชราภาพ ความอ่อนแอทางร่างกาย เนื่องจากการตกงาน เนื่องจากการเรียนที่ต้องถูกพัก หรือเหตุผลอื่นๆที่ร้ายแรง โดยสิทธิในการเรียกร้องนั้นสามารถจำกัดเป็นระยะเวลาได้

  1. ค่าเลี้ยงดูบุตร

ในกรณีที่ครอบครัวนั้นแยกทางกัน ฝ่ายที่ไม่ได้อยู่เลี้ยงดูลูกนั้น จำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรให้กับลูกคุณ โดยสิทธิในการเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงดูบุตรนั้นมีสำหรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเด็กที่บรรลุนิติภาวะแล้วแต่ยังเรียนวิชาชีพแรกอยู่ โดยจำนวนเงินในการจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรนั้นขึ้นอยู่กับตารางเทียบเงินที่เรียกว่า ตารางดุสเซลดอร์ฟ (Düsseldorfer Tabelle) โดยการเรียกร้องเงินส่วนนี้จะสามารถดำเนินได้ก็ต่อเมื่อเด็กใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนีเท่านั้น ในกรณีที่มีการตกลงกันได้คุณสามารถไปเซ็นต์และทำสัญญาเรื่องข้อตกลงค่าเลี้ยงดูบุตรได้ที่ Jugendamt หรือที่เจ้าหน้าที่โนทารี่ (Notar) ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายจากทางศาล

ในฉบับต่อไปเราจะกล่าวถึงข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวเนื่องกับบุตรที่มีร่วมกัน

ทนายความหญิง โฟลริน่า กุทมัน

ทนายความหญิง นิโคล ไบเยอร์ ทนายความและทนายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสังคม