ในหนังสือฝรั่งฉบับที่แล้วเราได้แจ้งให้คุณทราบถึงการเปลี่ยนมาใช้ข้อบังคับของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายการรับมรดก โดยข้อบัญญัตินี้ควรจะมีผลใช้ได้ในประเทศที่เป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามแต่การใช้ข้อบัญญัตินี้อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการนำไปใช้ ปัญหาแรกที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือการแปลหรือการตีความหมายหัวข้อหรือคำศัพท์เฉพาะด้านบางคำ  สิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจกับหัวข้อหรือคำศัพท์เฉพาะด้านต่างๆที่เราเคยได้ยิน หรือคุ้นหู เกี่ยวกับกฎหมายการรับมรดกของประเทศเยอรมนีนั้น ถึงแม้จะมีการแปลออกมาแล้วก็ตาม แต่ความหมายและเนื้อหารายละเอียดของคำนั้นๆอาจแตกต่างกันออกไปก็เป็นได้

ในข้อบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับมรดกนั้นมีการเลือกใช้คำหรือบัญญัติคำศัพท์มากมาย นั่นหมายความว่าคำศัพท์หรือหัวข้อต่างๆ จะถูกตีความหมายโดยตรงจากข้อบัญญัตินี้ อย่างที่เราแจ้งให้ทราบว่าข้อควรระมัดระวังคือความหมายจากคำศัพท์หรือหัวข้อสำคัญต่างๆที่มาจากข้อบัญญัติของสหภาพยุโรปเรื่องกฎหมายการรับมรดกนั้น อาจจะไม่มีความหมายเหมือนกับที่เรารู้จักในกฎหมายรับมรดกของประเทศเยอรมนีเสมอไป ข้อบัญญัติของสหภาพยุโรปนั้น ได้ให้คำจำกัดความตามบทความที่ 3 ย่อหน้าที่ 1 d ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำอธิบายเจตนารมณ์กำหนดความประสงค์ในกรณีที่เสียชีวิต คือ การทำพินัยกรรมแบบเดี่ยวหรือโดยตนเอง การทำพินัยกรรมร่วมกัน และสัญญาแบ่งปันมรดก กล่าวคือรายละเอียดและเนื้อหาที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปจากที่มีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศเยอรมนี

พินัยกรรม ในที่นี่กล่าวถึงการทำพินัยกรรมแบบเดี่ยวหรือโดยตนเอง กล่าวคือเป็นการเขียนคำสั่งครั้งสุดท้าย ซึ่งแสดงเจตนากำหนดเผื่อไว้ในกรณีที่เสียชีวิตลง และสามารถเพิกถอนได้อย่างอิสระ รูปแบบในการทำพินัยกรรมประเภทนี้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับภายในประเทศนั้นๆ ตามข้อบังคับของประเทศเยอรมนีนั้นต้องเป็นรูปแบบทางราชการโดยทำที่เจ้าหน้าที่โนทาร์ หรือสามารถเขียนขึ้นด้วยลายมือตนเองได้ โดยแบบหลังนี้จะต้องมีการระบุสถานที่ วัน เดือน ปี ที่เขียน และถ้าเป็นไปได้คือต้องลงลายมือชื่อตนเองไปด้วย  เพื่อที่ในกรณีที่มีการแบ่งแยกมรดกเกิดขึ้นจะได้ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ทำพินัยกรรมแต่อย่างใด

สัญญาแบ่งปันมรดก  สัญญาแบ่งปันมรดกตามข้อบัญญัติของสหภาพยุโรปเรื่องกฎหมายการรับมรดกแบบใหม่นั้นคือ สัญญาตกลงเนื่องจากต้องการแบ่งปันมรดกให้ซึ่งกันและกัน โดยในสัญญาสามารถระบุหรือไม่ระบุข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างได้รับเป็นผลตอบแทนซึ่งกันและกันเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินหรือมรดกในอนาคต ของบุคคลคนๆเดียว หรือของหลายๆบุคคลที่กล่าวถึงในสัญญาก็ได้    รวมถึงสามารถเปลี่ยนแปลง และถอนคืนได้ ในข้อบัญญัติของสหภาพยุโรปได้ระบุคำจำกัดความของสัญญาแบ่งปันมรดกไว้กว้างกว่าของประเทศเยอรมนี คือการทำสัญญาแบบนี้ไม่ต้องมีการระบุเงือนไขในการได้รับหรือแบ่งปันมรดกลงไป ตามมาตราที่ 25 ของข้อบัญญัติสหภาพยุโรปจะมีการตกลงเรื่องการตรวจสอบการนำสัญญาไปใช้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเงื่อนไขในสัญญาด้วย

พินัยกรรมแบบร่วมกัน โดยตามข้อบัญญัติของสหภาพยุโรปได้มีการตีความความหมายต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ของประเทศเยอรมนี นั่นคือผู้ที่สามารถทำพินัยกรรมแบบนี้ได้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสามี ภรรยา หรือคู่จดทะเบียนสมรสที่เป็นเพศเดียวกันเท่านั้น กล่าวคือเป็นการทำพินัยกรรมหนึ่งฉบับ จากคนสองคน หรือจากหลายๆคนก็ได้ ข้อแตกต่างของการทำพินัยกรรมแบบนี้ตามข้อบัญญัติของสหภาพยุโรปคือไม่จำเป็นต้องมีการระบุเงือนไขในการให้มรดกให้กับผู้ที่ทำพินัยกรรมร่วมกัน หากต้องการให้มีการระบุเงื่อนไขร่วมกันคือเป็นการทำสัญญาแบ่งปันมรดก

ในฝรั่งฉบับต่อไป – เราจะกล่าวถึงส่วนที่ 3 คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการรับมรดกตามกฎหมายสากล

ทนายความหญิง นิโคล ริเนา

ทนายความหญิงผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางสังคม